สุขภาพดี...เรื่อง กล้วยกล้วย
กระแสความนิยมผลไม้นำเข้าราคาแพงๆ อาจทำให้หลายคนลืมผลไม้ไทยอย่าง “กล้วย” ที่มีคุณประโยชน์สารพัด แถมราคาถูกกว่าผลไม้ต่างแดน จึงนำเรื่องควรรู้ของกล้วย พร้อมแนะวิธีกินอย่างไรท้องไส้ไม่ปั่นป่วนมาฝากกันค่ะ
กล้วยสุก เมื่อรับประทานจะพบว่าเนื้อนุ่ม กลืนลงคอได้เร็วและย่อยง่าย ด้วยเหตุที่กล้วยกลืนง่ายนี้ ทำให้บางคนไม่ค่อยเคี้ยว ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นวิธีการที่ผิดนะคะ ที่ถูกคือต้องเคี้ยวให้ละเอียด เพราะกล้วยมีแป้งร้อยละ 20-25 ของเนื้อกล้วย ถ้าเคี้ยวไม่ละเอียด น้ำย่อยในกระเพาะต้องทำงานหนัก หากย่อยไม่ทันกล้วยจะอืดในกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตาม กระเพาะของคนใช้เวลาในการย่อยกล้วยสั้นกว่าการย่อยส้ม นม กะหล่ำปลี หรือแอปเปิล
คนทำงานหรือนักกีฬา ถ้าต้องการเรียกพลังงานให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ไม่มีอาหารว่างใดดีไปกว่ากล้วยแล้วค่ะ เพราะกล้วยอุดมด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุคโทส และกลูโคส มีเส้นใยและกากอาหาร จึงช่วยเพิ่มพลังงานได้ทันที และดีต่อระบบขับถ่าย จากงานวิจัยพบว่า กินกล้วยแค่ 2 ผล สามารถเพิ่มพลังงานพอๆ กับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ถึง 90 นาที จึงไม่น่าแปลกใจที่กล้วยเป็นผลไม้อันดับหนึ่งของนักกีฬาชั้นนำระดับโลก
ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มพลังงานเท่านั้น กล้วยยังช่วยเอาชนะและป้องกันโรคต่างๆ มาดูประโยชน์ของกล้วยกันดีกว่านะคะ “กล้วยมีธาตุเหล็กสูง” จึงช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด ช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลังหรือโลหิตจาง “กล้วยมีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด” แต่มีปริมาณเกลือต่ำ จึงเป็นอาหารสมบูรณ์แบบที่สุดที่จะช่วยปรับสมดุลความดันโลหิต องค์การอาหารและยาของอเมริกายังอนุญาตให้อุตสาหกรรมปลูกกล้วยโฆษณาได้ว่ากล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายจากความดันโลหิตหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตก
“กล้วยเพิ่มพลังสมอง” เคยมีรายงานว่า นักเรียน 200 คน ที่โรงเรียนทวิคเกนฮาม ได้คะแนนสอบดีตลอดปี เพราะการรับประทานกล้วยในมื้อเช้า ช่วงเบรก และมื้อกลางวันทุกวัน แสดงให้เห็นว่าปริมาณโปรแตสเซียมที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในกล้วยทำให้นักเรียนตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น
“กล้วยแก้โรคท้องผูก” ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วย ช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ แก้ท้องผูกโดยไม่ต้องพึ่งยาถ่าย
“กล้วยแก้โรคซึมเศร้า” จากการสำรวจในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า พบว่า หลายคนมีความรู้สึกดีขึ้นมากหลังการรับประทานกล้วย เพราะมีโปรตีนที่เรียกว่า ทริปโตฟาน เมื่อสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น เซโรโทนิน มีฤทธิ์ผ่อนคลายปรับอารมณ์ให้ดี มีความสุขขึ้น
“กล้วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่” เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลีย แนะรับประทานกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้อ “กล้วยดีต่อระบบประสาท” ในกล้วยมีวิตามินบีสูงมาก ช่วยทำให้ระบบประสาทเป็นปกติ ยังมีการศึกษาของสถาบันจิตวิทยาในออสเตรียพบว่า ความกดดันในที่ทำงานเป็นเหตุให้กินจุบจิบ จนเป็นโรคอ้วน ฉะนั้นเพื่อเลี่ยงความตระหนกจากภาวะกดดัน จึงต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด ด้วยอาหารว่างคาร์โบโฮเดรตสูง เช่น รับประทานกล้วยทุก 2 ชั่วโมง ทั้งนี้วิตามินบี 6 ที่อยู่ในกล้วยยังมีสารควบคุมระดับกลูโคสซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์
“กล้วยรักษาลำไส้เป็นแผล” กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุมและต้านการเกิดแผลที่ลำไส้ เพราะเนื้อของกล้วยนุ่มพอดี จึงเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่เหมาะกับผู้ป่วยลำไส้เรื้อรัง และยังมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ลดระคายเคือง เคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหาร
“ตัวช่วยสำคัญของคนกำลังเลิกบุหรี่” เนื่องจากในกล้วยมีปริมาณของวิตามินเอ บี 6 บี 12 และซีสูง และยังมีโปรแตสเซียมกับแมกนีเซียมที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นคืนกำลังได้รวดเร็ว อันเป็นผลจากความอ่อนเพลียระหว่างลดเลิกนิโคติน
“กล้วยรักษาสมดุลโปรแตสเซียม” โดยสารดังกล่าวช่วยให้การเต้นของหัวใจปกติ การส่งออกซิเจนไปยังสมอง และปรับระดับน้ำในร่างกาย เวลาเครียด อัตราเผาผลาญในร่างกายจะขึ้นสูงและทำให้โปรแตสเซียมในร่างกายลดลง แต่โปรแตสเซียมที่มีอยู่สูงมากในกล้วยจะช่วยให้เกิดความสมดุล
“กล้วยลดความเสี่ยงเส้นเลือดฝอยแตก” จากการวิจัยที่ลงในวารสารทางการแพทย์นิวอิงแลนด์ ชี้ว่า การกินกล้วยเป็นประจำสามารถลดอันตรายที่เกิดกับเส้นโลหิตแตกได้ร้อยละ 40
“กล้วยรักษาหูด” โดยการใช้เปลือกกล้วยด้านใน วางปิดลงบนหูดแล้วใช้แผ่นปิดแผลหรือเทปติดไว้ จะสามารถรักษาโรคหูดให้หายได้ และ “แก้คัน” ก่อนใช้ครีมทาแก้ยุงกัดลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงกัด เพราะเปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบแอปเปิ้ลแล้ว กล้วยยังมีโปรตีนมากกว่าแอปเปิ้ล 4 เท่า มีคาร์โบรไฮเดรตมากกว่า 2 เท่า มีฟอสฟอรัสมากกว่า 3 เท่า มีวิตามินเอและธาตุเหล็กมากกว่า 5 เท่า และมีวิตามินรวมทั้งแร่ธาตุอื่น มากกว่าอีก 2 เท่า และอุดมด้วยโปรแตสเซียม กล้วยจึงเป็นหนึ่งในอาหารที่ดีที่สุด
เห็นไหมคะ กล้วยรักษาอาการต่างๆ ได้มากมาย หันมากินกล้วยวันละผล เพื่อสุขภาพที่ดีจะได้ไม่ต้องไปหาหมอกันดีกว่าค่ะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Email :
ข้อคิดเห็น :
รหัสป้องกันสแปม :
เพิ่มข้อคิดเห็น