‘มะเร็งจีสต์’ ฝันร้ายระบบทางเดินอาหาร | PG&P THAI

19-12-2012 23:11:19
(0) ที่ชื่นชอบ
   
(3055) เปิดดู

 

ทำความรู้จักมะเร็งร้ายอีกชนิด ‘จีสต์’  ฝันร้ายของระบบทางเดินอาหาร

เราอาจคุ้นหูโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ แต่หากเอ่ยถึง 'มะเร็งจีสต์' จะมีกี่คนรู้จัก? แพทย์หญิงสุดสวาท เลาหวินิจ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยอธิบายว่า มะเร็งจีสต์ (GIST : Gastrointestinal Stromal Tumor) หรือมะเร็งเนื้อเยื่อในทางเดินอาหารชนิดจีสต์ เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร เกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินอาหาร มักพบป่วยในคนวัย 50 ปีขึ้นไป

คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้มะเร็งชนิดนี้แตกต่างไปจากมะเร็งกระเพาะ มะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งส่วนอื่นของทางเดินอาหารทั่วไป คือ มะเร็งจีสต์จะต้องเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อ คิท (KIT) ที่อยู่บนผิวของเซลล์ปกติ คอยทำหน้าที่ส่งสัญญาณภายในเซลล์ เพื่อแจ้งให้เซลล์ขยายตัวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ทว่า เมื่อเซลล์ชื่อ คิท ผิดปกติ สัญญาณจะถูกส่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์เกิดความผิดปกติ เป็นเหตุให้เนื้องอกยิ่งเจริญเติบโตขึ้นนั่นเอง ทั้งนี้ในการวินิจฉัยให้รู้แน่ชัด โดยพยาธิแพทย์จะต้องนำชิ้นเนื้อตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการณ์ด้วยการย้อมสีโปรตีนคิท หากพบว่าเป็นมะเร็งจีสต์ ผลการตรวจโปรตีนคิทมักจะเป็นค่าบวก

สำหรับมะเร็งจีสต์นั้น ในอเมริกา พบป่วย 4,000–5,000 รายต่อปี ในไทยพบป่วยปีละ 250 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งของระบบทางเดินอาหารชนิดอื่น แต่มีอัตราการเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี

CT SCAN พบมะเร็งจีสต์ในผู้สูงอายุสตรีรายหนึ่งอาการของโรค มักไม่แสดงให้เห็นในขณะที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก แต่แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญ หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการเพราะเนื้องอกโตขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษามีหลายวิธี บางรายผ่าตัดชิ้นเนื้อในช่องท้องออกไป แต่โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็มีค่อนข้างสูง หรือจะใช้วิธีแบบดั้งเดิม คือ การรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ กลับพบว่า มีการดื้อต่อการฉายรังสีและเคมีบำบัด และโรคมักกลับเป็นซ้ำอีกหรือมีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้

ปัจจุบันการรักษามะเร็งจีสต์มีความก้าวหน้ามากขึ้น หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ อาจทำให้แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดได้ทันที ต้องลดขนาดก้อนมะเร็งโดยให้ผู้ป่วยรับประทานยา ที่สำคัญคือ ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีน ไคเนส กระทั่งก้อนมะเร็งลดลง จึงทำการผ่าตัดออก จากนั้นจะให้การรักษาเสริมด้วยยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อเป้าหมาย หรือออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ดี ยากลุ่มดังกล่าวเรียกว่า ทาร์เก็ต เธอร์ราปี (Targeted Therapy) เช่น ยาอิมมาตินิบ ให้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดก้อนมะเร็งจีสต์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยาที่ใช้รักษานั้นมีราคาค่อนข้างแพง แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าผู้ป่วยที่ทุนทรัพย์ไม่พร้อมจะหมดทางเข้าถึงยา เพราะยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติจีแพป โดยโนวาร์ตีส เป็นการมอบยาอิมมาตินิบให้ผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ทั่วโลก แบบไม่คิดมูลค่า ซึ่งผู้ป่วยสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 50,000 รายในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ส่วนในไทยช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งจีสต์ ไปแล้ว 524 คน

เมื่อใครๆ ต่างก็ไม่อยากป่วยด้วยโรคมะเร็ง ขออย่าละเลยการตรวจสุขภาพ และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากผิดปกติควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน โดยเฉพาะมะเร็ง รู้ทันโรคเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มโอกาสหาย

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์



สินค้าที่เกี่ยวข้อง

เขียนข้อคิดเห็น:

ชื่อ :

Email :

ข้อคิดเห็น :

รหัสป้องกันสแปม :


เพิ่มข้อคิดเห็น