โรคอ้วนในวัยทอง ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม !! PG&P THAI
ในปัจจุบันโลกของเรามีจำนวนประชากร 7 พันล้านคน และในจำนวนนี้ ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 12.8 ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ในปัจจุบันโลกของเรามีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ทางภาครัฐและเอกชนหันมาตระหนักถึงปัญหาของโรคภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับวัยชราที่มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โดยเฉพาะปัญหาภาวะอ้วนในวัยทอง ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดและมะเร็ง กล่าวคือ ภาวะโรคอ้วนทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่ร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง ที่มีอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกในปี 2548 สูงถึง 5.7 ล้านคน/ปี โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป
รศ.พญ.มยุรี จิรภิญโญ นายกสมาคมสตรีวัยหมดระดูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมวัยหมดระดูนานาชาติ (The International Menopause Society) โดยความร่วมมือกับ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้กำหนดให้วันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสตรีวัยทองโลก และที่ผ่านมา ได้มีการร่วมมือในการรณรงค์ ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงความรุนแรงของโรคอ้วนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
ช่วงชีวิตในแต่ละวัย
ในช่วงชีวิตของสตรีจะมี 3 วัย คือ วัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ และ วัยหมดระดู โดย “วัยเด็ก ” จะนับตั้งแต่แรกเกิด จนถึงเริ่มเป็นวัยรุ่นสาว กินเวลาประมาณ 10-12 ปี ในวัยนี้รังไข่ยังไม่มีการผลิตฮอร์โมนจนกว่าจะถึง “วัยเจริญพันธุ์ ” ซึ่งวัยเจริญพันธุ์ของสตรีเป็นวัยที่สามารถมีบุตรได้ และยังมีประจำเดือน ในวัยนี้ร่างกายจะได้รับอิทธิพลของฮอร์โมนจากรังไข่ ได้แก่ เอสโตรเจน ทำให้ร่างกายเจริญเปลี่ยนแปลงจากเด็กหญิง มาเป็นเด็กสาว และมีการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีการตกไข่ออกจากรังไข่เดือนละหนึ่งครั้ง สามารถมีบุตรเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ได้ และมีประจำเดือนหรือระดูสม่ำเสมอทุกเดือน ตราบใดที่ยังไม่ตั้งครรภ์
ส่วน “วัยหมดประจำเดือน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “วัยทอง” จะเป็นวัยที่รังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการตกไข่ และหยุดสร้างฮอร์โมน สังเกตได้จากการมีประจำเดือนหรือระดูมาไม่ปกติ และหายไปในที่สุด ช่วงตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นต้นไป เรียกว่า วัยหมดประจำเดือน เกิดขึ้นในช่วงอายุ 45-55 ปี ซึ่งโดยเฉลี่ยที่เริ่มเข้าสู่วัยหมดระดูของสตรีไทย อยู่ที่อายุประมาณ 48 ปี ซึ่งจะมีเวลาเหลืออีกประมาณ 20-30 ปีกว่าจะสิ้นอายุขัย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวัยหมดระดูมีเวลานานถึง 1 ใน 3 ของชีวิตสตรี
อย่างไรก็ตาม สำหรับสตรีแล้ว ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ต้องเตรียมตัว คือ “ช่วงปลายของวัยเจริญพันธุ์” ซึ่งรังไข่จะทำงานน้อยลง มีการตกไข่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่มีการตกไข่ แต่ยังผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ ระยะนี้จะสังเกตได้ว่าประจำเดือนมาไม่ค่อยปกติ คือมาเร็วหรือช้ากว่าธรรมดา เลือดออกมากและนาน หรือออกน้อย หรือไม่สม่ำเสมอเหมือนเดิม อาการผิดปกตินี้มักเกิดในช่วงอายุเลย 35 ปีขึ้นไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน
“โรคอ้วน” ภัยคุกคามสตรีวัยทอง
พญ.มยุรี กล่าวว่า สำหรับการรณรงค์ในปีนี้ สมาคมฯ จะเน้นการดูแลสุขภาพโดยการควบคุมน้ำหนัก และตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของโรคอ้วน เพราะเราจะพบว่า สตรีในวัยทองเมื่อฮฮร์โมนหมดไป จะมีอาการหงุดหงิดง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้รุนแรงนัก แต่ปัญหาที่รุนแรงกว่า คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเกิดจากกระบวนการชราภาพของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย นอกจากกระบวนการตามธรรมชาติแล้ว ฮอร์โมนก็มีส่วนเช่นกัน
“ถ้าหากมีความอ้วนเข้ามาเสริมด้วย ความอ้วนก็จะทำให้ความรุนแรงของโรคมีมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไป ก็จะพบว่า ทำไมถึงต้องมีการตรวจร่างกาย เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันในเลือด มะเร็ง ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต จนถึงขั้นเสียชีวิต มีการวิจัยออกมาพบว่า ผู้ที่อายุ 50-60 ปี จะเป็นช่วงวัยที่น้ำหนักขึ้นได้ไวที่สุด โดยมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 ก.ก / ต่อปี ซึ่งหากไม่ได้รับการควบคุมก็จะมีการเพิ่มของน้ำหนัก ก็จะกลายเป็นโรคอ้วนในที่สุด” พญ.มยุรี กล่าว
เมื่อเปรียบเทียบกับในวัยอื่น ปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ก็จะขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารเป็นหลัก ซึ่งจะต่างจากวัยหมดประจำเดือน ที่ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมอาหารแล้ว บางรายก็ยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุด จึงต้องควบคุมตั้งแต่ก่อนจะถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คนที่อ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดม ากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติถึง 3 เท่า เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญในการรณรงค์เพื่อให้ควบคุมน้ำหนักก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน เพราะถ้าเราควบคุมน้ำหนักได้ดี โรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะต้องทำให้วิ่งเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ ก็จะเกิดน้อยลง โอกาสในการเสียชีวิตก็จะน้อยลงตามไปด้วย
“เราอาจจะเริ่มควบคุมน้ำหนักตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ซึ่งเดี๋ยวนี้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น ปัจจุบันจะเห็นว่าสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เพราะตัวเลขล่าสุดที่ออกมาคนไทย 65 ล้านคน จะมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปประมาณ 8 ล้านคน เฉลี่ยอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าสังคมใดมีปริมาณผู้สูงอายุเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ นั้นหมายความว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมีการเตรียมรับกับสังคมผู้สูงอายุด้วย”
ใส่ใจเรื่องอาหาร-ออกกำลังกาย
ปัญหาในการออกกำลังกายและการรับประทานอาหาร เป็นปัญหาที่สำคัญของคนในสังคมเมือง โดย พญ.มยุรี กล่าวว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนในเมืองส่วนใหญ่ มักจะรับประทานอาหารที่เป็น Fast food ซึ่งเป็นอาหารที่อันตราย เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน ดังนั้นหากไม่สามารถทำอาหารรับประทานเองได้ อย่างน้อยก็ควรเลือกประเภทอาหาร โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โปรตีนสูง หวาน เค็ม เป็นต้น แต่ให้เน้นที่ผักและผลไม้มากขึ้น
ส่วนการออกกำลังกาย พญ.มยุรี แนะนำว่า อย่างน้อยที่สุด หากได้ยืดเส้นยืดสายบ้างก็จะช่วยได้ เช่นการเดินออกไปจ่ายตลาด หรือเดินเล่นอย่างน้อยวันละ 30 -60 นาที ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งการเดินออกกำลังกาย ควรจะเดินในช่วงเช้า-เย็น ที่มีแดดอ่อนๆ เพื่อให้ได้รับแสงแดดที่มีวิตามินดี ที่ทำให้กระดูกแข็งแรง ทั้งนี้เคยมีการสำรวจพบว่า ในคนชนบทจะมีมวลกระดูกที่แข็งแรงกว่าคนในเมือง เนื่องจากได้รับแสงแดดที่มีวิตามินดี ขณะที่คนในเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างไม่ได้รับแสงแดด เนื่องจากคนในเมืองมักทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก รวมถึงคนผิวขาวในประเทศซีกโลกเหนือ ที่มีแสงแดดน้อย เช่นในทวีปยุโรป ก็จะมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
“ในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ เราจึงต้องตระหนักถึงภาวะโรคอ้วนในวัยสูงอายุให้มากและควรมีการดูแลและควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตั้งแต่ในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาวและช่วงวัยกลางคนก่อนจะเข้าสู่วัยสูงอายุ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ” พญ.มยุรี กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก โดยมนุษย์ทุกวันนี้มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การวางแผนป้องกันโรคร้าย ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้เท่านั้น แต่ยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอีกด้วย ซึ่งวิธีง่ายๆ และเป็นพื้นฐานที่สุด คือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อไม่ป่วยง่ายๆ ก็ไม่ต้องไปพบแพทย์หรือไปซื้อยามากินบ่อยๆ ให้เสียเวลาทำงาน และเสียรายได้ที่ควรจะสามารถเก็บออมไว้ยามจำเป็น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Email :
ข้อคิดเห็น :
รหัสป้องกันสแปม :
เพิ่มข้อคิดเห็น