บูรณาการสานต่อ "ฟู้ดเซฟตี้" สินค้าพืชผักผลไม้ PG&P THAI
บูรณาการสานต่อ "ฟู้ดเซฟตี้" สินค้าพืชผักผลไม้ PG&P THAI
นอกจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อศักยภาพการแข่งขันและสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังมีนโยบายขับเคลื่อนพัฒนาด้านความปลอดภัยทางอาหารหรือ ฟู้ดเซฟตี้ (Food Safety) เพื่อช่วยผลักดัน ครัวไทยสู่ครัวโลก ตามนโยบายรัฐบาลด้วย การสร้างความร่วมมือระหว่าง “กรมวิชาการเกษตร” และ “กรมส่งเสริมการเกษตร” นับเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนายกระดับการผลิตสินค้าพืชให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้สินค้าพืชไทยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ
นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ว่าด้วย การรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช หรือจีเอพี (GAP) ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งทั้งสองหน่วยงานได้บูรณาการงานตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพทุก 2 ปี มุ่งส่งเสริมและผลักดันแหล่งผลิตพืชผักและผลไม้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เกษตรกรเป้าหมายกว่า 150,000 ราย รวมพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ
สำหรับ กรมส่งเสริมการเกษตรมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ขณะเดียวกันยังเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับตำบลและเกษตรกร GAP อาสา เพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำเกษตรกรในการเตรียมแปลงปลูกพืชเข้าสู่ระบบการ GAP พร้อมตรวจประเมินแปลงเกษตรกรเบื้องต้น แล้วส่งข้อมูลให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการต่อ ส่วน กรมวิชาการเกษตร ทำหน้าที่ตรวจรับรองแปลงเกษตรกรตามระบบ GAP
ทั้งตรวจรับรองแปลงใหม่ และตรวจต่ออายุแปลงเดิม นอกจากนั้น ยังมีการตรวจติดตามแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วอย่างต่อเนื่องด้วยปี 2556 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรแจ้งว่าได้เตรียมความพร้อมเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักและไม้ผลไว้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจรับรองตามมาตรฐาน GAP จำนวน 21,000 ราย รวม 28,000 แปลง โดยได้มีการปรับแผนปฏิบัติงานเพื่อให้เกษตรกร ทำได้ง่ายขึ้น อาทิ การจัดการปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การใช้สารเคมีการเกษตร การใช้เมล็ดพันธุ์พืช และการกำจัดแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน เป็นต้น หากผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กรมวิชาการเกษตรจะออกใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้ และผลผลิตจากแปลงมาตรฐานนี้จะได้รับรองเครื่องหมาย Q ช่วยการันตีคุณภาพสินค้าได้
ทางด้าน นายวัชรินทร์ อุปนิสากร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักและไม้ผลมายื่นจดทะเบียนจำนวน 195,593 แปลง พื้นที่กว่า 1,308,000 ไร่ มีแหล่งผลิตของเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 161,783 แปลง พื้นที่ ประมาณ 1,018,000 ไร่ คิดเป็น 82.7% ซึ่งปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งตรวจติดตามแปลงที่ได้รับรองเครื่องหมาย Q จำนวน 37,030 แปลง พร้อมตรวจเพื่อต่ออายุใบรับรอง 57,460 แปลง และเร่งตรวจรับรองแปลงใหม่ เป้าหมาย 31,510 แปลง
การสานต่อความร่วมมือระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นแนวทางส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก จะทำให้ไทยมีแหล่งผลิตสินค้าพืชที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยได้ โดยเฉพาะการเปิด เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี (AEC) ที่จะเริ่มมีผลในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ คาดว่า สินค้าเกษตรของอาเซียนจะมีการแข่งขันสูงขึ้น
“มาตรฐานสินค้าถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้ามากขึ้น มีหลายประเทศหยิบยกประเด็นมาตรฐานขึ้นมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาระบบการผลิตเข้าสู่มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น หากสินค้าไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน โอกาสทางการตลาดจะมีน้อย อาจจำหน่ายได้เฉพาะในตลาดท้องถิ่นหรือชุมชนเท่านั้น” นายวัชรินทร์กล่าว
หากสนใจนำแปลงปลูกพืชเข้าสู่มาตรฐาน GAP สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-2537 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Email :
ข้อคิดเห็น :
รหัสป้องกันสแปม :
เพิ่มข้อคิดเห็น