ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ แนะคิดให้ดีก่อน "ผ่าตัดคลอดตามฤกษ์" | PGP THAI

15-03-2013 08:09:00
(0) ที่ชื่นชอบ
   
(4131) เปิดดู

ปกติการผ่าตัดคลอดที่ยอมรับกัน ทั่วไป จะทำด้วยข้อบ่งชี้หลักๆ คือ การผิดสัดส่วนกันระหว่างขนาดของทารกกับช่องเชิงกรานมารดา (Cephalopelvic disproportion), การผ่าตัดซ้ำ, รกเกาะต่ำ, มารดามีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

ศ.คลินิก พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ความนิยมผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปกติการผ่าตัดคลอดที่ยอมรับกันทั่วไป รวมทั้งองค์การอนามัยโลกประมาณ 25% ทำด้วยข้อบ่งชี้หลักๆ คือการผิดสัดส่วนกันระหว่างขนาดของทารกกับช่องเชิงกรานมารดา (Cephalopelvic disproportion), การผ่าตัดซ้ำ, รกเกาะต่ำ, มารดามีภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น

ส่วนในปัจจุบัน การผ่าตัดคลอดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยโรงพยาบาลเอกชนจะมีอัตราการผ่าตัดคลอดมากกว่า 80% ขณะที่โรงพยาบาลรัฐ ก็พบว่าอัตราเพิ่มขึ้นเกือบถึง 50% เช่นกัน

สำหรับโรงเรียนแพทย์ การที่จะพิจารณาผ่าตัดคลอดหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้อย่างเคร่งครัด เพราะจะได้รับการควบคุมความถูกต้องให้สมเหตุสมผล เนื่องจากมีการเรียนการสอน ซึ่งพบว่าอัตราการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40-50% โดยสาเหตุใหญ่ที่อัตราเพิ่มขึ้นเป็นเพราะการร้องขอของคนไข้และแพทย์เองก็ พร้อมที่จะทำตามคำร้องขอดังกล่าว

สำหรับเหตุผลที่พ่อแม่เลือกวิธีการผ่าตัดคลอดมาจากหลายปัจจัย เช่น กลัวความเจ็บปวดจากการคลอดธรรมชาติ หรือบางคนอาจจะไม่อยากให้ช่องคลอดฉีกขาด เป็นต้น แต่เหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากการห่วงความปลอดภัยของเด็ก และการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็ทำให้พ่อแม่เชื่อว่าการผ่าตัดและดมยาสลบ มีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนเหตุผลรองลงมาคือ ความต้องการเลือกฤกษ์เกิดเด็ก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกของ 2 ฝ่าย ทั้งแพทย์และคนไข้

อย่างไรก็ดี การผ่าตัดคลอดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีต่อคนไข้คือ โอกาสที่ทารกจะบาดเจ็บจากการคลอด เช่น ติดไหล่ จะน้อยลง ขณะที่แพทย์ก็สามารถกำหนดเวลาที่เหมาะสมได้ ทำให้ไม่ต้องเฝ้าคลอดนาน ส่วนข้อเสียคือ 1. คนไข้มีโอกาสต้องผ่าตัดซ้ำสูง ซึ่งกระทบต่อระบบสุขภาพในภาพรวม เช่น การแย่งห้องผ่าตัด และอาจเกิดปัญหาเมื่อตั้งครรภ์ใหม่แล้วไปคลอดในสถานพยาบาลที่ไม่มีห้องผ่า ตัดอาจทำให้เกิดอันตรายได้ 2. เสียเลือดมากกว่าปกติ 3. เพิ่มโอกาสที่จะติดเชื้อ 4. เพิ่มความเสี่ยงจากเรื่องวิสัญญี 5. บางครั้งการตามใจคนไข้อาจทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากเลือกเวลาที่ไม่เหมาะสม เวลาที่แพทย์หรือบุคลากรผู้ช่วยไม่พร้อม 6. คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 7. การมีแผลผ่าตัดที่ตัวมดลูกทำให้เสี่ยงต่อมดลูกแตกเวลาตั้งท้องครั้งใหม่ 8. กรณีตั้งครรภ์ใหม่ พบรกเกาะต่ำได้บ่อยขึ้น และฝังตัวลึกกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง

ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยบอกอีกว่า ปัจจุบันมีการยืดหยุ่นเรื่อง 'การขอผ่าตัดคลอดตามฤกษ์' ที่คนไข้ต้องการ การเลือกที่จะผ่าตัดคลอดในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อคิดเห็นร่วมกันระหว่างคนไข้และแพทย์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการคำนึงถึงความปลอดภัยของมารดาและลูก และเหนืออื่นใดคือ 'จริยธรรม' ที่ดีของแพทย์ในเรื่องการให้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเวลาตั้งครรภ์ใหม่ และแพทย์ต้องไม่ทำด้วยเหตุผลหลักคือผลประโยชน์ เมื่อให้ข้อมูลครบถ้วน แม่และพ่ออาจเลือกขอไม่ผ่าตัดก็ได้

สำหรับเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดคลอด หมายถึงต้องเป็นท้องครบกำหนด ทีมงานพร้อม ไม่กระทบต่อระบบบริการในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่ทรัพยากรมีจำกัด (ห้องผ่าตัด, หมอดมยา) และต้องไม่ใช่ยามวิกาล เพราะหากเกิดภาวะแทรกซ้อนและต้องการขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้ช่วยคน อื่นจะทำได้ไม่สะดวก เช่น กรณีตกเลือด หรือจำเป็นต้องตัดมดลูก เป็นต้น

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์



สินค้าที่เกี่ยวข้อง

เขียนข้อคิดเห็น:

ชื่อ :

Email :

ข้อคิดเห็น :

รหัสป้องกันสแปม :


เพิ่มข้อคิดเห็น