สร้างผิวขาวได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง | PG&P THAI
สร้างผิวขาวได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง | PG&P THAI
ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานจากการตระเวนเล่นน้ำสงกรานต์จนสีผิวหมองคล้ำไปตามๆ กันแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาบำบัดผิวของตนเองให้กลับมาชุ่มชื่นขาวใสเหมือนเดิมเสียที
โดยวิธีบำบัดผิวนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลากรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชโลมครีม การขัดผิว หรือบางคนอาจหันไปใช้วิธีฉีดกลูต้าไธโอนเพื่อให้ผิวขาวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งความจริงแล้วสารกลูต้าไธโอนนี้เราสามารถสร้างได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปฉีดให้เสี่ยงอันตรายเสียด้วยซ้ำ
แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และ Anti-Aging โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทและศรีนครินทร์ ภาคีเครือข่ายคนไทยไร้พุง เปิดเผยว่า กลูต้าไธโอนไม่ใช่สารอันตราย แต่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เราทุกคนมีอยู่ในร่างกาย หากระดับของกลูต้าไธโอนในร่างกายต่ำลงจะส่งผลให้อนุมูลอิสระสะสมมากขึ้น มีความเสี่ยงต่อโรคที่สัมพันธ์กับอนุมูลอิสระ เช่น อัลไซเมอร์ หลอดเลือดหัวใจ พาร์กินสัน มะเร็งต่างๆ
รวมถึงโรคที่ไม่เป็นโรคแต่น่ากลัวที่สุดสำหรับสาวๆ คือเหี่ยวหมองก่อนวัยอันควร
การรับประทานกลูต้าไธโอนเสริมน่าจะเป็นทางเลือกในการชะลอวัยที่ดี แต่อุปสรรคคือ กลูต้าไธโอนในแบบรับประทานมีปัญหาเรื่องการดูดซึมมาก เพราะร่างกายเรามีเอนไซม์ที่เข้ามาย่อยกลูต้าไธโอนที่รับประทานเข้าไปจนแทบไม่เหลือเศษเสี้ยวให้ขาวใส การซื้อมารับประทานจึงอาจเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนการฉีดกลูต้าไธโอนนั้นห้ามเด็ดขาดเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหากเทคนิคการฉีดไม่สะอาด เสี่ยงต่อการช็อกจากการแพ้สารประกอบในยาฉีดนั้น (ไม่ได้แพ้กลูต้าไธโอนแต่แพ้ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สารกันเสีย)
ในเมื่อรับประทานก็ไม่ดูดซึม ฉีดก็อันตรายแล้วจะทำอย่างไรจึงจะเพิ่มกลูต้าไธโอนในร่างกายได้
วิธีที่ทำได้ง่ายๆ เนื่องจากพบว่าปฏิกิริยาการสร้างกลูต้าไธโอนในร่างกายถูกควบคุมด้วยหลายปัจจัย หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ ความเหลือเฟือของสารตั้งต้นที่นำไปใช้สร้าง โดยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีการศึกษากันมากว่าช่วยเพิ่มระดับของกลูต้าไธโอนในร่างกายของเราได้คือ แอลฟ่าไลโปอิคเอซิด หรือ ALA (Alpha-lipoic acid) ซึ่งเป็นสานต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ แต่ปริมาณในอาหารมักมีไม่มากพอจึงนิยมรับประทานในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากกว่า โดยพบว่า ALA มีคุณสมบัติในการเพิ่มกรดอะมิโนซิสเตอีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของกลูต้าไธโอนให้สูงขึ้นได้ จึงเป็นการเพิ่มระดับกลูต้าไธโอนทางอ้อม ซึ่งปริมาณที่แนะนำให้รับประทานทั่วไปคือ 50-100 มิลลิกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม อาหารก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างกลูต้าไธโอนเช่นกัน โดยพบว่าการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนน้อยเกินไปหรือการรับประทานอาหารหวานมากและบ่อยเกินไปจนระดับอินซูลินในเลือดสูงเรื้อรังจะส่งผลให้ความสามารถในการสร้างกลูต้าไธโอนของร่างกายเราลดลงได้ จึงควรเน้นรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นของกลูต้าไธโอน เช่น นม โยเกิร์ต ชีส ไก่ จมูกข้าวสาลี ถั่ว ปลา และผักที่มีซัลเฟอร์ เช่น บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า หัวหอม กระเทียม เป็นประจำ
นอกจากอาหารแล้วพบว่าการออกกำลังกายแบบหนักหน่วงเป็นเวลา 30 นาที เช่น วิ่งเร็ว (เร็วพอที่จะทำให้คุณหอบเบาๆ ) หรือกีฬาที่ใช้ความเร็วสูง เช่น แบดมินตัน สควอช ก็มีส่วนกระตุ้นการสร้างกลูต้าไธโอนในร่างกายได้เช่นกัน แต่ไม่ควรใช้เวลาเกินกว่า 60 นาทีต่อเนื่อง เพราะการออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกายส่งผลให้กลูต้าไธโอนถูกใช้ไป แทนที่จะได้กำไรอาจกลายเป็นขาดทุนกลูต้าไธโอนไปแทน
ดังนั้นกลูต้าไธโอนเป็นสารที่ร่างกายสร้างได้เอง ไม่จำเป็นต้องหาซื้อมารับประทานหรือฉีดให้เสี่ยงอันตราย เพียงแค่รู้วิธีการรับประทานและออกกำลังกายในแบบที่ส่งเสริมการสร้างกลูต้าไธโอนเท่านั้น เราก็สามารถมีสุขภาพดีและมีผิวพรรณที่ขาวสดใสได้โดยไม่ต้องเสี่ยงอันตรายและเสียสตางค์ฟรีแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
Email :
ข้อคิดเห็น :
รหัสป้องกันสแปม :
เพิ่มข้อคิดเห็น